วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ตามหาสถานีรถไฟเก่า Bukit Timah Station


หลายคนมาสิงคโปร์ ก็มักจะไปดูเมอร์ไลออน เล่นเครื่องเล่นที่ยูนิเวอร์เซล หรือเดินเตร่ช็อปปิ้งที่ถนนออร์ชาร์ต แต่วันนี้ผมอยากจะพามายังสถานที่ที่คนทั่วไปนั้นไม่ค่อยจะมากัน ถ้าไม่มีความสนใจเฉพาะทางจริงๆ

นั่นคือ มาตามหาสถานีรถไฟเก่า Bukit Timah กัน

สืบเนื่องจากผมเคยอ่านกระทู้ๆเก่าจากเว็บบอร์ดรถไฟไทย เกี่ยวกับสถานีรถไฟในสิงคโปร์ ก่อนที่จะปิดตัวลงในปี 2011 แล้วก็สะดุดกับสถานีรถไฟ Bukit Timah ซึ่งเป็นสถานีรถไฟเล็กๆ อยู่ระหว่างกึ่งกลางของสถานีรถไฟ Woodland ที่ชายแดนสิงคโปร์-มาเลเซีย กับสถานีรถไฟสิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน Tanjong Pagar ความรู้สึกแรกคือ ในสิงคโปร์ประเทศที่มีความทันสมัย มีตึกรามบ้านช่องโอ่อ่า จะมีสถานีรถไฟเล็กๆแบบนี้ด้วยหรือ สิ่งนี้จุดประกายให้ผมต้องมาดูกับตาว่ามันเป็นอย่างไร

แล้วโอกาสนั้นก็มาถึง

ก่อนอื่นขออนุญาตเล่าที่ไปที่มาของสถานีรถไฟแห่งนี้เสียก่อน สถานีรถไฟ Bukit Timah เริ่มเปิดใช้งานเมื่อปี 1903 ก่อสร้างอาคารสถานีใหม่ในปี 1932 ตั้งแต่ช่วงปี 1940 สถานีรถไฟแห่งนี้กลายเป็นเพียงสถานีสับหลีกของทางรถไฟเท่านั้น ไม่มีการรับส่งผู้โดยสารใดๆทั้งสิ้น จนกระทั่งในปี 2011 KTM รัฐวิสาหกิจเดินรถไฟของมาเลเซียประกาศยุติเส้นทางรถไฟในสิงคโปร์ โดยรถไฟ KTM จะสิ้นสุดปลายทางที่สถานี Woodland เท่านั้น จึงเป็นการปิดตำนานเส้นทางรถไฟในประเทศสิงคโปร์อย่างถาวร ปัจจุบันตัวอาคารสถานีได้รับการรักษาไว้โดยทางการสิงคโปร์ และมีแผนที่จะจัดทำ Rail Corridor เป็นเส้นทางเดินทางธรรมชาติให้ประชาชนทั่วไปในอนาคต

หลายคนคงจะงงว่า แล้วเส้นทางรถไฟในสิงคโปร์เส้นนี้ทำไม KTM ของมาเลเซียต้องดูแล ก็สืบเนื่องจากในปี 1963 สิงคโปร์เปลี่ยนจากการปกครองภายใต้รัฐบาลอังกฤษมาเป็นรัฐภายใต้ประเทศมาเลเซีย กิจการรถไฟของอังกฤษที่เชื่อมระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์จึงเปรียบเสมือนอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน กระทั่งในปี 1965 สิงคโปร์แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย แต่ระบบการเดินรถไฟยังคงเป็นของมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้ทำให้ดูเหมือนว่าทางรถไฟ และสถานีรถไฟของ KTM ที่อยู่ลึกเข้าไปในเกาะสิงคโปร์นี้อยู่ภายใต้อธิปไตยของมาเลเซียมากกว่าสิงคโปร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หากคุณเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปมาเลเซียทางรถไฟ ด่านตม.ของมาเลเซียนั้นไม่ได้อยู่ที่ชายแดน แต่อยู่ในสถานีรถไฟกลางเมืองสิงคโปร์นั่นแหละ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับประชาชนพอสมควร กระทั่งในปี 2011 มีการเจรจากันของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ได้ข้อสรุปคือ มาเลเซียจะคืนอาคารสถานีรถไฟสิงคโปร์ สถานีรถไฟ Bukit Timah และทางรถไฟที่อยู่ลึกเข้าไปในสิงคโปร์ทั้งหมด ให้กับทางการสิงคโปร์ ส่วนทางการสิงคโปร์แลกเปลี่ยนด้วยการให้สิทธิ์ลงทุน 60% เพื่อพัฒนาที่ดิน 6 แปลงรอบอ่าวมารีน่า ซึ่งเป็นที่ดินทำเลโคตรทอง หลังจากมาเลเซียคืนสถานีรถไฟและทางรถไฟแล้ว ทางรถไฟเกือบทั้งหมดถูกรื้อออก ส่วนตัวอาคารสถานีทั้งสองแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ยังคงดูแลรักษาถึงปัจจุบัน 



ภาพสถานี Bukit Timah เมื่อครั้งมีรถไฟวิ่งผ่าน

ว่าแล้วก็ได้เวลาออกตามหากัน

ผมเริ่มต้นเดินทางจะสถานีคลากคีย์ครับ



สถานีคลากคีย์สายสีม่วง แล้วเปลี่ยนเส้นทางที่สถานีลิตเติ้ลอินเดีย



จากสถานีลิตเติ้ลอินเดียเราเปลี่ยนเส้นทางมาเป็นสายสีน้ำเงิน Downtown Line แล้วไปลงที่สถานี King Albert Park



บรรยากาศการเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า


ภายในรถไฟฟ้า 



มาถึงสถานีคิงอัลเบิร์ต ออกมาจากตัวชานชาลา เดินออกมาตรง Exit A ได้เลยครับ


เดินตามทางนี้ไปเลยครับ สารภาพนิดนึง ผมเกือบจะหาสถานีรถไฟไม่เจอแล้ว เพราะดันไปเชื่อ Google Map!!! คือระหว่างเดินจะทางรกร้าง แล้วก็จะเจอกับสะพานทางรถไฟ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง น้องที่ไปด้วยกันกับผมสะกิดผมตั้งแต่ตอนแรก แต่ผมไม่เชื่อน้อง เชื่อกูเกิ้ล กูเกิ้ลนำทางผมไปไกลมาก สุดท้ายไปเจอหมู่บ้านคนรวย แล้วก็หาทางเข้าสถานีไม่เจอ ผมนี่ถอดใจแล้ว เอาวะ!!!ไม่เจอก็กลับ แต่พอผ่านทางรกร้างนั้นอีก น้องเขาก็สะกิดผมอีกรอบ ผมก็โอเคลองเข้าไปดู


นี่ไง ทางรกร้างที่น้องสะกิด ผมดูทรงแล้วมันไม่น่าเข้าไปดูเลย


เดินเข้ามาก็ยังไม่เห็นอะไรมาก


เดินมาเรื่อยๆ


เฮ้ยยยยยย เห็นแล้ววววววว เห็นอาคารสถานีอยู่ลิบๆ


ก่อนถึงตัวอาคารสถานี จะเจอกับอาคารนี้ก่อน ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นบ้านพักพนักงานรถไฟ


ตัวอาคารสถานีรถไฟ กับรางบางส่วนที่ยังคงได้รับการรักษาไว้


อยากรู้จริงๆว่าเลข 48 หมายถึงอะไร


สภาพรางก็พุพังบ้างแล้ว


อาคารมีการล้อมรั้ว และติดป้ายอย่างชัดเจนว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ



ถ่ายลอดรั้วเข้าไป ห้องนี้เป็นห้องที่ทำการนายสถานีครับ


อันนี้เป็นประแจสับราง ไม่รู้เรียกถูกหรือเปล่า ถ้าเรียกผิดก็ขออภัย


ป้ายประเพณี ลอกจนแทบไม่เห็นตัวหนังสือแล้ว ทางซ้ายคือสิงคโปร์ ทางขวาคือวู้ดแลนด์


แท่งรับห่วงทางสะดวก อันนี้ก็สนิมขึ้นจนเขรอะไปหมดแล้ว


ตัวอาคารสถานี กับป้ายประเพณี


อันนี้ตัวอาคารสถานีอีกด้านครับ

ตอนนี้ตรงบริเวณสถานีก็มีคนมาวิ่งออกกำลังกายบ้าง คิดว่าถ้าโปรเจค Rail Corridor สร้างเสร็จ เชื่อว่าตัวอาคารนี้น่าจะเป็นสถานที่สำคัญในการใช้เป็นเครื่องยืนยันความทรงจำ เป็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์การเดินรถไฟ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะสถานีนี้ดูแลโดยมาเลเซียจนกระทั่งเส้นทางรถไฟในสิงคโปร์ถูกปิด ผมพยายามหาร่องรอยของความเป็นมาเลเซียในสถานีนี้ แต่ก็เหลืออยู่น้อยมาก จะมีก็ป้ายเพียงไม่กี่ป้ายที่แสดงข้อความภาษามาเลย์เท่านั้น อีกข้อที่น่าสังเกตคือ ตอนผมอ่านกระทู้เก่าๆ สถานีนี้อารมณ์เหมือนอยู่ในป่าแถวๆปากช่องเลย แต่พอไปในวันนี้ ต้นไม้ถูกตัดจนโล่งเลย พอผมอยู่เดินวนไปวนมารอบๆสถานีนี้ได้สักพักก็เดินทางกลับ เอาเป็นว่าก็ถือโอกาสขอจบบล็อคตอนนี้ซะเลย ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบนะครับ หากมีข้อมูลไหนผิดพลาดก็บอกกันหน่อยนะครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น