วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

อุปสรรคของฝ่ายค้านมาเลเซียที่ยังก้าวข้ามไม่ได้



ราคาน้ำมันในมาเลเซียที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงปีมานี้ เบนซิน95อยู่ที่ลิตรละ 21 บาท เบนซิน97ลิตรละ 30 บาท ดีเซลลิตรละ 22 บาท ไม่นับรวมถึงค่าครองชีพต่างๆ เช่นค่าทางด่วน ค่าโดยสาร รายการสินค้า ภายหลังจากรัฐบาลประกาศใช้ GST คล้ายๆ VAT ในบ้านเรา กลายเป็นจุดอ่อนให้พรรคฝ่ายค้านใช้ในการโจมตีพรรครัฐบาล

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งใหม่จะมาถึงภายในปีหน้า แต่ถึงแม้คะแนนนิยมของพรรคอัมโนและบาริซานเนชั่นแนลจะตกต่ำลง แถมยังมีสมาชิกอาวุโสจากพรรคอัมโนแยกออกมาตั้งพรรคใหม่และร่วมมือกับแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่ใช่ง่ายๆที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านหรือปากาตันฮารัปปันจะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ทั้งด้วยกลไกของการเลือกตั้งของมาเลเซียเองที่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรครัฐบาล รวมถึงความไม่ลงรอยกันของพรรคฝ่ายค้าน วันนี้เลยขอแชร์ว่าอะไรคืออุปสรรค์ของพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียในมุมมองของผม ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้นคงไม่ต้องสาธยายมาก เพราะทุกอย่างมันลงตัวหมดแล้ว ตามประสาของพรรคที่กุมอำนาจมานาน

แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่ขณะนี้ประกอบไปด้วย 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วยพรรค PKR ของนางวัน อซิซะห์ ภรรยานายอันวาร์ เดิมพรรคนี้นายอันวาร์เป็นผู้นำพรรคกระทั่งถูกศาลตัดสินจำคุกในคดีรักร่วมเพศ พรรค DAP ที่มีนายลิม กวน เอ็ง ผู้ว่าการรัฐปีนังบุตรชายของนายลิม กิต เสียง อดีตผู้นำฝ่ายค้านหลายสมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค พรรค AMANAH ของนายโมฮัมหมัด ซาบู ที่แยกตัวออกมาจากพรรค PAS และพรรคน้องใหม่ BERSATU ของนายมูยิดดิน ยาสซิน อดีตรองนายกฯ อดีตเบอร์สองของอัมโน และอดีตเบอร์สองของแนวร่วมพรรครัฐบาล ภายใต้การสนับสนุนของอดีตนายกฯมหาเธร์ โมฮัมหมัด

และพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ได้อยู่ในแนวร่วมคือพรรค PAS พรรคที่มีแนวนโยบายอิงศาสนาอิสลาม ปัจจุบันพรรคนี้ปกครองรัฐกลันตัน รวมถึงมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ(Dewan Undangan Negeri)ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐตรังกานูและเกดะห์ พรรค PAS ออกจากแนวร่วมฝ่ายค้านเดิมหรือปากาตันรัคยัต เนื่องจากไม่ลงรอยกับพรรค DAP กรณีการสนับสนุนการใช้กฎหมายอิสลาม

ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบัน คะแนนนิยมของรัฐบาลจะตกต่ำลง ฝ่ายค้านมีผู้เล่นบิ๊กเนมมาร่วมมากขึ้น เรียกคะแนนนิยมจาก"แฟนคลับ"ได้บางส่วน แต่ปัญหาของฝ่ายค้านที่ยังมีอยู่และเห็นได้ชัดคือ
1.ยังไม่สามารถเคลียร์ปัญหากับพรรค PAS ได้ แม้ว่าอดีตนายกมหาเธร์จะพูดต่างกรรมต่างวาระว่าจำเป็นอย่างยิ่งหากจะเอาชนะพรรคอัมโนได้ การต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องต่อสู้ภายใต้แนวร่วมเดียว นั่นคือ 1 เขตเลือกตั้งจะต้องมีผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้านเพียงคนเดียว ไม่มีคนอื่นจากแนวร่วมเดียวกันลงแทรก ออกแนวบ้านเราก็คือ "อย่าตัดคะแนนกันเอง" ด้วยความที่พรรค PAS เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ และไม่ได้อยู่ในแนวร่วม ทางมหาเธร์กับพรรค PKR โดยอาซมิน อาลี ผู้ว่าการรัฐสลังงอร์ จึงพยายามอย่างมากในการพูดคุยเจรจากับพรรค PAS ในเรื่องของการจัดสรรเก้าอี้ผู้สมัคร ขณะที่พรรค PAS ก็ออกมาตั้งเงื่อนไขว่า พร้อมทำงานด้วยกับพรรค PKR และ BERSATU แต่จะไม่ร่วมกับพรรค DAP และ AMANAH ที่แยกตัวออกไปจาก PAS รวมถึงออกมาบอกว่า จะส่งผู้สมัครลงแข่งขันหากเขตพื้นที่นั้นมีผู้สมัครของพรรค AMANAH อยู่ ถ้าหากแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถตกลงกับพรรค PAS ได้ สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรค์แรกของพรรคฝ่ายค้านแน่นอน เพราะการที่มีแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านลงชิงมากกว่า"หนึ่งพรรค"ย่อมเป็นการตัดคะแนนกันเอง ซึ่งทั้งมหาเธร์ และแกนนำคนอื่นๆเห็นจุดเสี่ยงจุดนี้ดี
2.ยังไม่สามารถกำหนดตัวผู้ที่จะเป็นผู้นำในการลงเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านทั้งสี่พรรคยังตกลงกันไม่ได้ ว่าใครจะเป็นแคนิเดต"นายกรัฐมนตรี"ของพรรคฝ่ายค้าน เพราะต่างฝ่ายต่างมีอาเจนด้าของตัวเอง พรรค PKR ต้องการหนุนนายอันวาร์เป็นนายก DAP ก็ร่วมต่อสู้กับ PKR มาตลอด หรือ AMANAH ก็ต้องการหนุนนายอันวาร์ด้วย ขณะที่พรรคใหม่ที่เพิ่งมาอย่าง BERSATU นั้นยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทำให้เกิดอาการ "โรคเลื่อน" คือเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่ลงตัวซักทีว่าใครจะเป็นคนถือธงนำในศึกเลือกตั้งมาเลเซียที่จะมาถึงนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่า หากฝ่ายค้านต้องการใครสักคนที่มีโปรไฟล์ หรือต่อสู้แบบสมน้ำสมเนื้อหน่อย ก็คงอาจจะยกให้กับมูยิดดิน ยาสซิน เพราะสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านขาดคือแนวร่วมชาวมลายู ภาพลักษณ์ของมูยิดดินที่มีมหาเธร์เป็นคนหนุนน่าจะช่วยดึงคะแนนเสียงจากคนมลายูได้ เพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้นั้นพรรคอัมโนเคลมตัวเองว่าเป็นพรรคของชาวมลายู การจะเอาชนะพรรครัฐบาลได้ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ผู้นำหรือบุคคลที่มีลักษณะแล้วดูเป็นตัวแทนของคนมลายูได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคใหม่(ของฝ่ายค้าน)เข้ามาแล้วอยู่ดีๆพรรคที่เหลือก็จะยอมยกให้พรรคใหม่ถอดด้ามมานำการเลือกตั้ง ในความคิดเห็นผมผมว่าอาจจะต้องรอไฟเขียวจากอันวาร์ ถ้าอันวาร์เอาด้วย แล้วให้มูยิดดินเป็นคนนำ การเลือกตั้งครั้งหน้าน่าจะสนุก
3.กลไกการเลือกตั้ง อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในการเลือกตั้งครั้งผ่านมา แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเดิมหรือปากาตันรักยัต เอาชนะพรรครัฐบาลได้ด้วยคะแนนเสียง แต่ไม่สามารถเอาชนะในคะแนนที่นั่งในสภาได้ จึงทำให้อันวาร์พลาดหวังได้นั่งเก้าอี้นายก เมื่อมากางดูแผนที่มาเลเซีย จะเห็นว่าพื้นที่มาเลเซียประกอบไปด้วยสองส่วนคือ มาเลเซียตะวันตกหรือแหลมมลายู และมาเลเซียตะวันออกหรือบอร์เนียว มาเลเซียมีทั้งหมด 13 รัฐ ในสิบสามรัฐนี้มีสามรัฐที่มีเขตเลือกตั้งจำนวนมากคือ ซาบาห์ ซาราวัค และโจโฮร์ ในกรณีของซาบาห์ ซาราวัคนั้น เป็นสองรัฐที่อยู่ในเกาะเบอร์เนียว(มาเลเซียตะวันออก) มีประชากรไม่มาก แต่มีเขตเลือกตั้งมาก เนื่องจากสองรัฐนี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่(แบ่งตามพื้นที่) สองรัฐนี้พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเจาะไข่แดงได้เลย แนวร่วมฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบมาโดยตลอด ขณะที่พรรคฝ่ายค้านนั้นได้เปรียบในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ในเมืองใหญ่ และเขตที่มีคนเชื้อสายจีนและอินเดียอาศัยอยู่มาก ดังนั้นหลายคนจึงมองว่าพรรคฝ่ายค้านควรที่จะเก็บชัยชนะในสองรัฐนี้ให้ได้

ความได้เปรียบของฝ่ายค้าน ภายหลังจากสมาชิกของพรรคอัมโนส่วนหนึ่งได้แยกออกมาตั้งพรรคใหม่ชื่อ BERSATU นั้น ผู้สนใจการเมืองหลายคนได้จับจ้องไปยังสองรัฐที่เป็นรัฐฐานเสียงของอัมโน คือโจโฮร์และเกดะห์ ในโจโฮร์นั้นเป็นฐานเสียงสำคัญของอัมโนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยมีผู้นำของอัมโนในโจโฮร์คือ "มูยิดดิน ยาสซิน" คนนี้นี่แหละ เป็นตัวจักรสำคัญในพื้นที่ ส่วนที่เกดะห์นั้นก็เป็นฐานเสียงของอัมโนเช่นกัน แม้ว่าก่อนหน้านี้พรรค PAS ปกครองอยู่ แต่พอการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคอัมโนยึดอำนาจกลับคืนมาได้ภายใต้การนำของ "มุกตริซ มหาเธร์" บุตรชายอดีตนายกมหาเธร์ ซึ่งภายหลังจากที่พ่อของเขามีปัญหากับนายกนาจิบทั้งพ่อทั้งลูกก็ย้ายมาอยู่กับพรรค BERSATU หลายคนมองว่าสองรัฐนี้จะกลายเป็นฐานเสียงของพรรคใหม่นี้ก็ต้องคอยดูว่า เลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคฝ่ายค้านคุยกันลงตัว แบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ได้ การเลือกตั้งในปี 2017 อัมโนและบาริซานเนชั่นแนลน่าจะมีหนาวๆร้อนๆขึ้นมาบ้าง....


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น